วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

แอบมองรางวัลตุ๊กตาทองสไตล์พม่า

โดย กระแนจอ

ขึ้นชื่อว่านักแสดง ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องอยากได้รางวัลเกียรติยศมาประดับบ้านกันทั้งนั้น เพราะสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ชื่อเสียง เงินทอง และงานแสดงที่ตามมาอีกมากมาย ในประเทศพม่าเพื่อนบ้าน ของเราก็ไม่น้อยหน้า แจกรางวัลตุ๊กตาทองติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 แล้ว และยังคงจัดติดต่อกันมาทุกปี โดยสองปีที่ผ่านมาเพิ่งย้ายจากเมืองหลวงเก่าย่างกุ้งไปแจกรางวัลกันที่เมืองหลวงใหม่ที่เนย์ปีดอว์กันอย่างชื่นมื่น

ในช่วงปีแรก ๆ ของการประกาศผลรางวัล มีรางวัลเพียงแค่ 3 ประเภทเท่านั้น คือนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และภาพยอดเยี่ยม หลังจากนั้นมีการแจกรางวัลเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 11 รางวัล อาทิ รางวัลผู้กำกับ บทภาพยนตร์  นักแสดงสมทบชายและหญิง เพลงประกอบ  และตัดต่อภาพ เป็นต้น โดยในช่วงทศวรรษ 1980 - 1989 จัดว่าเป็นยุคทองของวงการภาพยนตร์พม่าเพราะมีการผลิตภาพยนตร์มากถึง 75 - 80 เรื่องต่อปี และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ  จนในปี 2548 มีภาพยนตร์พม่าออกฉายในโรงเพียงแค่ 16 เรื่องเท่านั้น และในปี 2550 ที่ผ่านมา  มีการสร้างภาพยนตร์ออกมาเพียง 10 เรื่องเท่านั้น

อุปสรรคขวางกั้นการเจริญเติบโตของ อุตสาหกรรมหนังพม่าที่ใหญ่ที่สุดคือกระบวนการเซ็นเซอร์อันเข้มงวดของรัฐบาลทหารทำให้บทภาพยนตร์ถูกจำกัดอยู่ในกรอบแคบ เช่น ห้ามผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา สนับสนุนสิทธิการเมือง สิทธิมนุษยชน ล่อแหลม ต่อศีลธรรม และล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่ารัฐบาลได้ออกกฎหมายใหม่ห้ามนำเสนอฉากที่สะท้อนถึงความยากจนเพราะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ โดยห้ามภาพยนตร์มีฉากหรือตัวละครที่สื่อให้เห็นถึงความยากจนในพม่า

ผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งในกรุงย่างกุ้งกล่าวว่า ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตในเขตชนบท และแรงงานกำลังได้รับความนิยมมากในพม่า ขณะที่ผู้กำกับอีกคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่ถูกห้ามไม่ให้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับคนจน ซึ่งรวมไปถึงการถ่ายทำในสถานที่ที่อาจสื่อให้เห็นถึงความยากจนของคนในประเทศ บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ในพม่าต่างเห็นพ้องตรงกันว่า กฎข้อบังคับใหม่จะส่งผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าที่ซบเซาอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีกเพราะขาดแคลนเงินทุนในการสร้างฉากจำลองขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ของพม่าในปีนี้ได้สร้างความผิดหวังให้กับนักแสดงหญิงไปตาม ๆ กัน เนื่องจากมีเพียงนักแสดงชายและผู้กำกับชายเท่านั้นที่สามารถคว้ารางวัลไปครอง สาเหตุมาจากรัฐบาลสั่งห้ามมอบรางวัลใด ๆ แก่ผู้หญิงในพม่าช่วงนี้ตามคำแนะนำของหมอดู

 

จากอุปสรรคข้างต้นทำให้ภาพยนตร์ที่สามารถลงโรงฉายในพม่าส่วนใหญ่จึงเป็นภาพยนตร์แนวตลก แนวรักหวานซึ้ง และแนวปลุกใจให้รักชาติ แน่นอนว่าภาพยนตร์ที่สามารถกวาดรางวัลตุ๊กตาทองไปได้มากที่สุดย่อมเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา "โดนใจ" ผู้นำทหาร ดังเช่น ภาพยนตร์เรื่อง  "Kyan Sit Min" หรือ "พระเจ้าอโนรธา" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์พม่า กวาดรางวัลตุ๊กตาทองไป 4 รางวัลในปี 2548 ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำ ผู้กำกับ และเพลงประกอบภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีบทแปลภาษาอังกฤษและได้รับการฉายในต่างประเทศด้วยเช่นกันพิธีกรประจำงานกล่าวถึงเหตุผลที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลผ่านสื่อมวลชนรัฐบาลว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ปลุกเลือดรักชาติเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกรักประเทศพม่า เป็นภาพยนตร์ที่น่าภูมิใจของประเทศพม่ามากทีเดียว"



 

นอกจากกระบวนเซ็นเซอร์แล้ว เงินทุนการผลิต กระแสฮิตหนังและละครต่างประเทศในรูปแบบวีซีดียังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังพม่าซบเซาลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จำนวนภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลน้อยลงเรื่อย ๆ ผู้ผลิตภาพยนตร์ และนักแสดงที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจึงเป็นพวกหน้าเดิม ๆ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน โดยนักแสดงชายที่เคยกวาดรางวัลตุ๊กตาทองไปมากที่สุดถึง 7 ตัว คือ ยุ้นต์ วิน รองลงมาคือ ญาน อ่องได้ไป 6 ตัว เท่ากับผู้กำกับชื่อ ทุคะ ส่วนนักแสดงหญิงที่กวาดรางวัลไปมากที่สุด 5 ตัว คือ มินท์ มินท์ ขิ่น ประธานสมาคมภาพยนตร์พม่าเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมิซซิมาว่า "ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมแผ่นฟิล์มต้องแข่งขันกับการแสดงเวทีพื้นบ้านเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ต้องแข่งกับละครทีวีและวีดีโอทำให้อุตสาหกรรมหนังพม่าซบเซาอย่างหนัก"

ผลกระทบจากอุตสาหกรรมหนังซบเซาทำให้โรงหนังที่มีอยู่เพียงหกถึงเจ็ดแห่งในเมืองย่างกุ้งต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะหากนำหนังต่างประเทศมาฉายก็ต้องรอผ่านคณะกรรมการเซ็นเซอร์ กว่าจะได้ลงโรงก็ไม่ทันวีซีดีเถื่อนที่วางแผงอยู่เต็มท้องตลาดล่วงหน้าไปแล้ว เจ้าของโรงหนัง จึงต่างน้ำตาตกในไปตาม ๆ กัน

ปัจจุบันสภาพโรงหนังพม่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียถือว่าล้าหลังย้อนไปถึงยุคอาณานิคมได้ทีเดียว คือ เป็นโรงหนังแบบดั้งเดิม ฉายภาพยนตร์เรื่องเดียววนซ้ำประมาณสี่รอบต่อวัน แบ่งที่นั่งสองชั้น คือ ชั้นบนและชั้นล่าง ไล่ลำดับราคาตามทำเลที่นั่งแถวหน้าสุดใกล้จอราคาถูกสุด ตีตั๋วแบบฉีกจากเล่มเหมือนโรงหนังยุคก่อนของบ้านเรา แถมตั๋วผียังคงมีให้เห็นใกล้เวลาหนังฉาย เครื่องฉายและระบบเสียงยังเป็นแบบรุ่นเก่า เพราะไม่มีเงินทุนหรือนักลงทุนหน้าไหนกล้าเอาเงินมาเสี่ยงกับธุรกิจนี้ หนังที่เข้าฉายแบ่งเป็นหนังฮอลลีวู้ด บอลลีวู้ด(หนังอินเดีย) และหนังพม่า

เกรซ ซเว ซิน ไต้ นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ผู้เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองของพม่าให้สัมภาษณ์สำนักข่าวมิซซิมาว่า "จริง ๆ แล้ว นักแสดง ผู้กำกับ และผู้ผลิตภาพยนตร์พม่า เป็นผู้มีความสามารถและทักษะมากมาย แต่มีปัญหาขาดเทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทุกวันนี้หากต้องการ พัฒนาคุณภาพการถ่ายภาพและตัดต่อก็ต้องออกไปต่างประเทศ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในพม่าไม่ก้าวหน้า"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น