วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ประกายความหวัง ณ ริมขอบแดน

โดย นานาตี

"รบกวน...เธอช่วยนำเงิน 2 พันบาทนี้ไปให้น้องของฉันด้วยนะ"

นี่คือคำขอร้องของเพื่อนชาวอาระกันคนหนึ่งที่ทราบว่าผู้เขียนกำลังจะเดินทางไปเก็บข้อมูลที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากในอีกไม่กี่วัน มันคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่นำพาให้เราได้พบกับชีวิตน้อยๆ หลายชีวิตในหมู่บ้านชายแดนเล็กๆ ที่ธนบัตรสีเทา 2 ใบนี้มีค่าสำหรับอนาคตของพวกเขาอย่างเหลือเชื่อ



 



อำเภอแม่สอด กลางเดือนสิงหาคม 2553 ผู้เขียนได้นัดเจอและมอบเงินให้กับไข่ไข่ สาวน้อยชาวอาระกันตามที่เพื่อนขอร้องไว้ ซึ่งจริงๆ แล้ว เงินจำนวนนี้ไม่ใช่ของไข่ไข่ แต่เธอเป็นเพียงตัวแทนผู้รับเงินเพื่อส่งต่อไปยัง “โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ Basic Education School Kilometer 48” โรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กลูกหลานแรงงานอพยพจากพม่าที่ “บ้านกิโล’ 48” ในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก

 

เราใช้เวลาประมาณหนึ่ งชั่ วโมงในการฝ่ าสายฝนลัดเลาะเส้นทางคดเคี้ยวไปยังบ้านกิโล 48 หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “เล้แซะชิ” ภายในรั้วสังกะสีที่อยู่ไม่ห่างจากถนนสายหลักเป็นที่ตั้งของอาคารสามหลังซึ่งใช้เป็นห้องเรียน ห้องพัก และร้านสหกรณ์เล็กๆ อาคารทุกหลังก่อสร้างอย่างเรียบง่ายด้วยอิฐบล็อกมุงหลังคาสังกะสี มีร่องรอยของน้ำฝนที่รั่วไหลปรากฏให้เห็นอยู่เป็นช่วงๆ ของเล่นปีนป่ายที่ทำจากยางรถเก่าๆ ถูกฉาบเคลือบไปด้วยสีน้ำตาลแดงของพื้นดินในสนามเด็กเล่ น แม้สภาพภายนอกจะทรุดโทรม แต่มันก็สามารถเปลี่ยนอนาคตของเด็กหลายคนที่อาจกลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ให้มีโอกาสได้เล่าเรียน โดยมีชายชราร่างผอมบางที่เดินถือไม้เรียวอยู่ในมืออยู่หน้าเสาธงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังโรงเรียนแห่งนี้

ข่ายซานทุนอ่องวัย 66 ปี ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ และเป็นพ่อแท้ๆ ของไข่ไข่ ในขณะนี้ครูใหญ่กำลังยุ่งอยู่กับการคุมเด็กๆ ให้มาเข้าแถวหน้าเสาธงเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน เด็กตัวเล็กประแป้งตะนาคาขาวโพลนที่แก้มทั้งสองข้าง มือหนึ่งหิ้วปิ่นโต แบกกระเป๋านักเรียนทยอยกันออกมาจากอาคารคอนกรีตเพื่ อยืนเข้าแถวหน้าเสาธงในตอนเย็นก่อนที่จะเปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ถึงสำเนียงจะฟังดูแปร่งแต่ก็พร้อมเพรียงกัน

 

ครูใหญ่เล่าว่า เขาอพยพหนีภัยการเมืองมายังประเทศไทยหลังจากต่อต้านรัฐบาลเผด็จการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 สมัยก่อนพื้นที่ แถวนี้มีชาวบ้านจากพม่าอพยพมาอยู่ จำนวนมากเช่นกัน แต่ ลูกหลานผู้อพยพไม่ มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนเหมือนคนไทยเหมือนตอนนี้ ขณะเดียวกันยาเสพติดก็กำลังแพร่ระบาดหนัก ทำให้เด็กหลายคนเสียอนาคตไปนักต่อนัก ครูใหญ่และเพื่อนๆ จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนหนังสือฟรีโดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่และได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรการกุศล

แม้ทุกวันนี้ เด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องสถานะจะมีสิทธิได้รับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐเท่าเทียมกับเด็กไทย แต่หลายคนก็ประสบปัญหาเรื่องเงินจึงต้องส่งลูกมาเรียนที่นี่ ในช่วงแรกที่โรงเรียนก่อตั้งมีนักเรียนประมาณ 50 คนในวันแรก ปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 200 คนแล้วหากใครเรียนดีทางโรงเรียนจะสนับสนุนให้เรียนต่อในโรงเรียนของรัฐบาลไทยต่อไป ในขณะนี้มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ได้เข้าเรียนมัธยมในตัวอำเภอแม่สอด ซึ่งทางโรงเรียนได้เช่าบ้านหนึ่งหลังใกล้ๆ เมืองให้นักเรียนใช้เป็นหอพักของเด็กที่เรียนดีแต่ยากจนโดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด

 

ไข่ ไข่ เล่าว่าช่วงที่ ผ่านมางบประมาณของโรงเรียนขาดแคลนจนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน “ไม่มีเงินกินข้าวก็ยังไม่ลำบากเท่าไหร่ค่ะ เพราะเด็กๆ พอเก็บผักหญ้ากินไปก่อนได้ แต่ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน แล้วต้องย้ายออก เด็กๆ จะลำบากเพราะไม่มีที่อยู่” นี่คือที่มาของเงินจำนวน 2 พันบาทที่เพื่อนของผู้เขียนได้ขอให้ผู้เขียนนำมาให้เธอในวันนี้

ปัจจุบัน โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงแค่ชั้น ป.5 เหตุที่ไม่มีชั้นป. 6 เพราะมีครูไม่พอ เนื่องจากงบประมาณที่ มีอยู่ อย่างจำกัดจนถึงขั้นขาดแคลนเลยก็ว่าได้ทำให้ครูหลายคนอยู่ได้ไม่นานเพราะไม่ได้รับเงินเดือน

“เงินเดือนครูอยู่ที่ 2,000 บาท ถ้ากินนอนที่โรงเรียนจะได้ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นครูคนไทยเงินเดือน 4,000 บาทเมื่อก่อนนี้เคยมีครูคนไทยมาสอน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ เพราะไม่มีเงินจ้าง ส่วนครูใหญ่เงินเดือน 2,500 บาท แต่ก็ไม่ได้รับเงินเดือนมานานมากแล้ว” ไข่ไข่เล่า

 

นอกจากจะต้องสอนหนังสือซึ่งเป็นหน้าที่หลักแล้ว ครูยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนอีกด้วย เช่น ทำความสะอาดทำอาหารเลี้ยงเด็กนักเรียนประจำที่พักอยู่ในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 30 คน ส่วนใหญ่บ้านอยู่ไกลหรือไม่ก็กำพร้าพ่อแม่และมีฐานะยากจน “ตอนนี้เด็กประจำขาดแคลนของใช้พวกสบู่ยาสีฟัน เด็กบางคนมาวันแรกมียาสีฟันหลอดเล็กๆ หลอดเดียวพอหมดก็หมดไป ก็ต้องทนอยู่กันไปอย่างนั้น” ไข่ไข่พูดถึงความลำบากของเด็กประจำ

แม้เด็กๆ ประจำจะได้กลับบ้านไปหาครอบครัวปีละครั้ง แต่สำหรับเด็กชายซีโบทูวัย 5 ขวบ นักเรียนประจำคนแรกและอายุน้อยที่ สุดนั้น นับตั้งแต่ วันแรกที่ เข้ามาเป็นนักเรียนประจำที่นี่ เด็กชายก็ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย

 

ไข่ไข่เล่าว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนไม่รับเด็กประจำ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่ซีโบทูอายุได้แค่ 2 ขวบ รถโรงเรียนได้ไปส่งซีโบทูที่บ้านที่เขาอาศัยกับแม่ลำพังสองคน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ “เย็นวันนั้น พอซีโบทูกลับถึงบ้าน ประตูบ้านเขาถูกล็อกไว้ เข้าบ้านไม่ได้ ไม่มีใครอยู่บ้าน ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่า แม่ของซีโบทูหนีเข้ากรุงเทพไปแล้ว และตั้งใจทิ้งซีโบทูไว้ที่นี่”

การทิ้งลูกน้อยวัยสองขวบให้เผชิญกับชะตากรรมเพียงลำพังเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจไม่น้อย แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือในเวลาต่อมาชาวบ้านได้ข่าวว่าแม่ของซีโบทูเสียชีวิตแล้วเพราะติดเชื้อเอชไอวี ถึงแม้ซีโบทูจะยังเด็กเกินกว่าที่จะรับรู้เรื่องราวอันเลวร้าย แต่การขาดความรักความอบอุ่นจากครอบครัว ทำให้ซีโบทูกลายเป็นเด็กที่เงียบ เก็บตัว ไม่ร่าเริงเหมือนเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกัน

ละละวิน เด็กหญิงวัย 9 ขวบเป็นนักเรียนประจำอีกคนหนึ่งที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ ละละวินสวมเครื่องแบบชุดนักเรียนไทยต่างจากนักเรียนที่นี่ที่ส่วนใหญ่สวมเสื้อยืดกางเกงวอร์มสีมอซอกับรองเท้าแตะ นั่นเพราะเธอพักอยู่ ที่ นี่ แต่ ไม่ ได้เข้าเรียนที่ นี่เธอเรียนอยู่ชั้น ป.2 ที่โรงเรียนบ้านร่มเกล้า 2 ซึ่งเป็นโรงเรียนไทยอยู่ ห่างจากที่ นี่ แค่ ร้อยเมตร สำหรับเด็กคนอื่นๆ อาจวิ่งไปโรงเรียนได้ภายในเวลาไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ แต่ละละวินอาจใช้เวลามากกว่านั้น เพราะเธอเป็นเด็กพิการ เท้าซ้ายคดงอ มือซ้ายมีเพียงนิ้วโป้ง ส่วนนิ้วปลายมือขวาขาดเหลือเพียงครึ่งเดียว พี่สาวของเธอที่เรียนอยู่ชั้น ป. 3 โรงเรียนเดียวกันจึงต้องอุ้มเธอไปโรงเรียนทุกเช้า แต่ถ้าวันไหนพี่สาวอุ้มไม่ไหว เธอก็จะใช้รถเข็นที่ได้รับบริจาคจากฝรั่งคนหนึ่งไปโรงเรียน

 

“โตขึ้นหนูอยากเป็นช่างเย็บผ้า” เด็กหญิงพูดถึงความใฝ่ฝันของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ได้ฟังรู้สึกประหลาดใจไม่น้อยเพราะมือของเธอที่มีปัญหา แต่ริ้วลายปักด้ายสีสันต่างๆ บนผ้าทอสีดำผืนเล็กๆ ที่เธอหยิบออกมาอวดด้วยความภาคภูมิใจทำให้เรามั่นใจว่าเธอจะเป็นช่างเย็บผ้าได้ไม่ยากนัก เมื่อหัวใจเต็มร้อย ร่างกายก็ไม่ใช่อุปสรรค

 

เวลาล่วงเลยมาถึงเย็นย่ำ ครูใหญ่ขอตัวจากวงสนทนาเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้จ้าดังขึ้นในสนามเด็กเล่น หลังจากสงบศึกได้แล้วจึงเดินขึ้นรถกระบะสองแถวที่แน่นเอี้ยดไปด้วยเด็กๆ เพื่อส่งพวกเขาที่บ้าน และหลังจากนั้นจะต้องรีบกลับมาที่โรงเรียนเพื่อช่วยครูอีก 5 คนทำอาหารเย็นเลี้ยงเด็กๆ ต่อ

 

ภาระหน้าที่ต่างๆ ในแต่ละวันอาจดูหนักหนาสาหัสเกินไปสำหรับชายชราในวัยใกล้เจ็ดสิบปี ที่อาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ขณะที่เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่ข้ามมาประเทศไทยด้วยกันอาจลี้ภัยไปประเทศที่สามในช่วงบั้นปลายชีวิตกันหมดแล้วก็ตาม ทว่า นับตั้งแต่โรงเรียนแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเขาก็ไม่เคยคิดที่จะหยุด เพราะความสุขของเขาคือที่ได้อยู่กับเด็กๆ และผลักดันชีวิตน้อยๆ เหล่านั้นเติบโตขึ้นโดยมีความรู้เป็นเครื่องมือในอนาคต ตราบเท่าที่เขายังคงมีเรี่ยวแรงหลงเหลือ

 

การเดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนพร้อมกับเงินเพียงน้อยนิดอาจเป็นกำลังใจให้กับชีวิตริมขอบแดนเหล่านั้นไม่น้อย แต่พวกเขาจะรู้หรือไม่ว่า เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาก็สามารถสร้างพลังในการใช้ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ให้แก่คนอื่นๆ อีกหลายคนที่กำลังท้อแท้ได้ไม่น้อยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น