วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านิยายของอดีตมหาเทวีแห่งสีป้อ

โดย โม๋หอม

นานมาแล้ว สาวน้อยนางหนึ่งได้พบรักและแต่งงานกับชายหนุ่มผู้แสนสุภาพอ่อนโยนจากต่างแดน โดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าผู้ที่เธอมอบหัวใจให้นั้นแท้จริงคือเจ้าชาย และเธอก็ได้กลายเป็นเจ้าหญิงโดยที่ไม่ทันตั้งตัว...เรื่องราวข้างต้นอาจพบเห็นได้ตามแผงหนังสือนิยายทั่วไป แต่สำหรับทุซานดี มหาเทวีองค์สุดท้ายของเมืองสีป้อแห่งรัฐฉาน นั่นคือชีวิตจริง ทว่า น่าเศร้านักที่ไม่มีใครสามารถกำหนดให้ตอนจบสวยงามตามปรารถนาได้เหมือนในนิยาย

 

 

ย้อนเวลาไปเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ทุซานดี หรือชื่อเดิมว่า อิงเง เซอร์เจน นักศึกษาสาวชาวออสเตรียได้พบรักกับเจ้าจ่าแสง นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากพม่าเมื่อครั้งที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งสองตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันโดยจัดงานแต่งงานเล็กๆ ที่นั่น

หลังจากสำเร็จการศึกษา เจ้าจ่าแสงได้พาอิงเงล่องเรือข้ามมหาสมุทรกลับมายังประเทศพม่า ทันทีที่เรือเทียบท่าในย่างกุ้ง ท่ามกลางฝูงชนและขบวนแห่ที่หลั่งไหลกันมาต้อนรับอย่างล้นหลาม เจ้าจ่าแสงจึงบอกความจริงแก่อิงเงในวินาทีนั้น

ในฐานะมหาเทวีของเจ้าฟ้าผู้ปกครองเมืองสีป้อ* แม้ว่าจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายที่ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพาร แต่เธอก็เลือกที่จะอุทิศตนให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า โดยเฉพาะเด็กๆ เจ้านางทุซานดีได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของโภชนาการและการศึกษา ในส่วนของเจ้าจ่าแสงถือว่าเป็นเจ้าฟ้ารุ่นใหม่นักพัฒนาที่พยายามทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งในด้านสุขภาพอนามัย เกษตรกรรม และการศึกษา นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อในเรื่องความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และเป็นกันเองซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองบ้านเมืองพึงมี
จึงทำให้ทั้งเจ้าฟ้าและมหาเทวีต่างเป็นที่รักของประชาชน ยกเว้นแต่รัฐบาลพม่า

แต่แล้วในปี ค.ศ.1962(พ.ศ.2505) ระบอบการปกครองโดยเจ้าฟ้าถึงอันต้องล่มสลาย เมื่อนายพลเนวินทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ถูกรัฐบาลเนวินกำจัดเพราะไม่ต้องการให้รัฐฉานแยกไป ปกครองตัวเองตามที่ได้สัญญาไว้** ครอบครัวเจ้าฟ้าต้องพลัดพรากกระจัดกระจาย เจ้าฟ้าต้องประสบกับชะตากรรมอันน่าสลด ไม่เว้นแม้แต่เจ้าจ่าแสงที่ถูกทหารพม่าจับกุมที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีใครทราบชะตากรรมของเจ้าฟ้าผู้นี้อีกเลย ทุซานดีและลูกสาวตัวน้อยๆ อีก 2 คนถูกกักขังในหอหลวงและถูกผลักดันให้ออกจากพม่าในเวลาต่อมา และนั่นคือครั้งสุดท้ายของอิงเงในพม่าที่ช่างแตกต่างกับวันแรกที่เหยียบย่างลงบนผืนแผ่นดินนี้โดยสิ้นเชิง

ระยะเวลาแปดปีในพม่าอาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่กลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว แต่ทุซานดียังคงห่วงใยประชาชนที่ถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ในเงื้อมมือของรัฐบาลเผด็จการทหารเสมอมา เธอได้จัดตั้งองค์กรเบอร์ม่า ไลฟ์ไลน์เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจากพม่า รวมถึงช่วยเหลือเหยื่อพายุไซโคลนนาร์กิสและประชาชนที่ประสบกับภาวะอดอยากในรัฐชินอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ล่าสุดได้จัดตั้งกองทุนมอบรางวัล "Sao Thusandi Leadership Award" เพื่อเป็นกำลังใจแด่ผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อประชาชนในรัฐฉาน โดยปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกได้มอบให้แก่จายภูเมือง เยาวชนไทยใหญ่ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของแรงงานไทยใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะทำงานแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจนได้รับเงินชดเชยจำนวนมากที่สุดเท่าที่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเคยได้รับ

ปัจจุบัน ทุซานดีมีชีวิตใหม่อยู่กับครอบครัวใหม่ในสหรัฐอเมริกาเฉกเช่นปุถุชนทั่วไปในบั้นปลายของชีวิต แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับชาวพม่า เธอยังคงเป็นมหาเทวีในดวงใจที่ประชาชนเคารพรักเสมอและตลอดไป.

 

 

หมายเหตุ * ในอดีต รัฐฉานแบ่งการปกครองออกเป็น 33 เมืองแต่ละเมืองมีเจ้าฟ้าปกครองเมืองอย่างอิสระ
**หลังจากอังกฤษคืนอิสรภาพให้ มีการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง โดยมีเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ผู้นำชนกลุ่มน้อยและตัวแทนจากพม่า โดยตกลงว่า รัฐชนกลุ่มน้อยจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพม่า 10 ปี และจะแยกตัวเป็นอิสระหลังจากนั้น แต่หลังจากนายพลเนวินยึดอำนาจ ได้เข้าฉีกสัญญาทิ้งไม่ยอมให้รัฐชนกล่มน้อยแยกตัว เป็นชนวนของปัญหาภายในพม่าเรื่อยมาถึงทุกวันนี้
(ข้อมูลจาก -บทความ Inaugural Sao Thusandi Award Given in Chiang Mai โดย  Sai Awn Murng www.shanland.org )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น