วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

มอแกน ชาวเลที่ถูกลืม

(เรื่อง/ภาพ สิทธิพร บรรจงเพชร)

อาจกล่าวได้ว่าชาวมอแกนเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้นนับจากเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 เหตุการณ์ครั้งนั้น พวกเขากลายเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตดาราชื่อดังและนักท่องเที่ยวหลายคนให้รอดพ้นจากคลื่นยักษ์ แต่ทว่า นานวันผ่านไป ชีวิตของชาวมอแกนกลับไม่ได้กลายเป็นฮีโร่ของสังคมไทยอีกต่อไป พวกเขายังคงถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนล้าหลังไร้การศึกษาและไร้รัฐ เพียงเพราะท้องทะเลที่พวกเขาเคยพึ่งพาอาศัยอยู่ระหว่างเขตแดนของสองประเทศ พวกเขาจึงกลายเป็นชาวเลที่ถูกลืมและไม่ได้สิทธิเฉกเช่นพลเมืองของรัฐใด

จากท้องทะเลสู่ผืนดิน


ชาวมอแกนเคยเป็นชนเผ่าเร่ร่อนกลางทะเลหรือกลุ่มชนย้ายถิ่นอยู่ในบริเวณทะเลอันดามัน คนส่วนใหญ่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ชาวเล มีสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ มอเก็น มอเกล็น และอุรักละโวย ภาษามอแกนอยู่ในตระกูลภาษามลายู ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และไทย ในอดีตชาวมอแกนมีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ภายใต้ความเชื่อที่ว่าท้องทะเลเป็นของพระเจ้า พวกเขาจึงไม่มีมโนทัศน์ในการถือสิทธิครอบครองที่ดิน โดยอาศัยท้องทะเลแถบอันดามันเป็นที่ทำมาหากิน

ชาวมอแกนเรียนรู้ปฏิทินจันทรคติแบบโบราณซึ่งมีความแม่นยำในการรับรู้ช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลงและคาดการณ์สภาพอากาศแต่ละช่วงได้ดี องค์ความรู้ดังกล่าวมีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ชาวมอแกนมีความสามารถในการหาทรัพยากรจากท้องทะเลได้อย่างเชี่ยวชาญ

ครอบครัวของชาวมอแกนเป็นครอบครัวขนาดเล็กจนถึงปานกลางเนื่องจากต้องย้ายถิ่นเพื่อหาอาหารตามที่ต่างๆ หรือย้ายถิ่นเพราะภัยธรรมชาติหรือการถูกรุกรานจากกลุ่มอื่น หรือเป็นการย้ายถิ่นเพื่อหนีโรคระบาด ปัจจุบันชาวมอแกนมีการตั้งบ้านเรือนถาวร รูปแบบของบ้านมอแกนจะมีทั้งการสร้างแบบชั่วคราวที่ทำจากใบปาล์มหรือมะพร้าวหรือการสร้างอย่างถาวร ปลูกใต้ถุนสูงริมน้ำทะเลแบบให้น้ำท่วมถึงเพื่อสะดวกในการดูแลเรือและเครื่องมือทำประมง หรือบางคนอาจเลือกปลูกบ้านอยู่บนบกใกล้ชุมชนไทยซึ่งอาจส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป

ชาวมอแกนนับถือผี พวกเขาเชื่อว่าผีเป็นผู้กำหนดโชคชะตาและการเจ็บป่วย โดยจะมีหมอผีประจำกลุ่มทำหน้าที่ทำนายโชคชะตา ดูฤกษ์ยามในการสร้างบ้านและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันครอบครัวมอแกนที่ได้รับสัญชาติไทยแล้วจะใช้นามสกุลตามกำหนดของทางราชการ เช่น ทะเลลึก ช้างน้ำ ประมงกิจ นาวารัตน์ หาญทะเล เป็นต้น

ปัจจุบันชาวมอแกนอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะช้าง เกาะพยามในเขตจังหวัดระนอง ยึดอาชีพทำประมงขนาดเล็ก บางส่วนออกไปรับจ้างอยู่กับกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ที่ออกเรือไปหาปลาบริเวณน้ำลึก โดยได้ค่าแรงจำนวนน้อยนิดเหมือนกับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีบัตรแรงงานต่างด้าว จึงทำให้ไม่มีอำนาจใดๆในการต่อรองกับนายจ้างชาวไทย นายทุนสามารถจ่ายค่าแรงได้ต่ำกว่าการจ้างแรงงานชาวไทยและเอารัดเอาเปรียบได้ง่ายกว่า

ปัญหาเกี่ยวกับสถานะบุคคลของชนชายขอบอย่างพี่น้องชาวมอแกน แห่งท้องทะเลอันดามันเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญแต่ถูกทับถมไว้ในสังคมไทยมานานหลายสิบปีเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน ชาวมอแกนยังไม่ได้รับสิทธิในการมีบัตรประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งๆ ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ถือกำเนิดในเมืองไทย แต่กลับไม่ได้รับสัญชาติไทยตามที่ควรจะเป็น ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเข้าถึงการบริการของรัฐ ทั้งเรื่องของการศึกษา การรักษาพยาบาล และสวัสดิการ รวมทั้ง การช่วยเหลือต่างๆ เช่นเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา ชาวมอแกน ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการซ่อมแซมบ้านและเรือ เนื่องจากเขาไม่ใช่คนไทยในทางกฎหมาย

สำหรับชาวมอแกนที่มีบัตรประชาชนไทย แม้ว่าในทางกฎหมายจะมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีทุกประการเฉกเช่นคนไทยทั่วไป แต่ในความเป็นจริงนั้น พวกเขากลับไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และยังคงถูกมองว่าเป็นคนเถื่อนเหมือนเช่นเคย

ด้วยเหตุนี้ ตราบใดก็ตามที่ทัศนคติของสังคมภายนอกต่อชาวมอแกนยังไม่เปลี่ยนแปลง การเรียกร้องสัญชาติไทยและสิทธิต่างๆตามฐานะอันควรของความเป็นพลเมืองไทยอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของมอแกนให้ดีขึ้นได้ ทางออกที่แท้จริงควรเริ่มจากการตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของมอแกนที่มีความแตกต่างหลากหลายและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรมในที่สุด

ชาวทะเลสองแผ่นดิน


เกาะเหลาตั้งอยู่บนผืนทะเลอันดามันห่างจากท่าเทียบเรือปากน้ำระนองเพียงครึ่งชั่วโมงโดยใช้เรือหางยาว ตั้งอยู่ระหว่างแนวเขตแดนไทย - พม่า ใกล้กับเกาะสินไหเกาะตาครุฑ เกาะช้างเกาะพยามของไทย และเกาะสน เกาะสองของพม่า ด้วยเหตุนี้สถานภาพของเกาะเหลา จึงเป็นเสมือนพื้นที่ชายขอบที่การพัฒนามิอาจเดินทางไปถึง เรือนไม้ใต้ถุนสูงของชาวมอแกนที่ปลูกอย่างง่ายๆริมฝั่งทะเลกระจุกตัวอย่างไร้ระเบียบ เด็กเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่บนลานดิน บ้างก็เล่นน้ำทะเลอยู่ริมหาดที่เต็มไปด้วยเศษเปลือกหอยและเศษขยะตามมีตามเกิด บรรดาผู้หญิงต่างนั่งอยู่ตามชายคาบ้านที่ใกล้ผุพังให้นมลูกน้อยตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่มีวิตามินบรรจุแคปซูล อาหารเสริม น้ำมันตับปลาแบบชนชั้นกลางในเมือง หรืออาจพูดง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากน้ำนมที่กลั่นจากเลือดของผู้เป็นแม่เท่านั้น คนเฒ่าคนแก่ต่างนั่งมองเด็กๆ ลูกหลานของพวกเขาท่ามกลางความกังวลว่าอนาคตของเด็กเล็กๆ เหล่านี้จะเป็นเช่นไรในสภาพของคนไร้สัญชาติ เพราะไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้ามาช่วยเหลือ

ด้วยเหตุที่ชาวมอแกนไม่มีสัญชาติจึงไม่มีบัตรประชาชนและไม่สามารถเข้าทำงานในระบบได้ อีกทั้งส่วนใหญ่ยังไม่รู้หนังสือ และพูดภาษาไทยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้ชายชาวมอแกนซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว บางคนจะออกไปทำงานรับจ้างระเบิดปลาตามเรือของนายทุนซึ่งเป็นงานที่ผิดกฎหมายต้องคอยหลบหนีทหารทั้งของไทยและของพม่าเพราะถ้าถูกจับได้จะต้องติดคุกเป็นระยะเวลายาวนานหรือไม่ก็ถูกฆ่าตาย บางส่วนทำประมงพื้นบ้าน เช่น จับหอยส่งให้พ่อค้าชาวไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ บางส่วนออกจับแมงกะพรุนหรือไม่ก็ดำน้ำจับปลิง ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นสำคัญ

ในอดีต พื้นที่เกาะเหลาเป็นของอดีตตำรวจน้ำวัย 72 ปี ซึ่งอนุญาตให้ชาวมอแกนเข้ามาอยู่อาศัยจนขยายเป็นชุมชนมอแกนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 แม้ว่าชาวมอแกนจะตั้งชุมชนอยู่ ณ ที่นี่มาเป็นเวลากว่า 30 ปีและลูกหลานนับร้อยก็ถือกำเนิดบนดินแดนแห่งนี้ แต่พวกเขาเหล่านี้กลับยังคงถูกตีตราว่าไม่ใช่คนไทยเพียงเพราะทัศนคติเก่าที่ว่าชาวมอแกนเป็นคนเร่ร่อนในท้องทะเลและไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง นอกจากนี้ ด้วยเพราะพื้นที่เกาะเหลาตั้งอยู่ในเขตระหว่างท้องทะเลไทยและพม่า จึงเป็นเรื่องเปราะบางอย่างยิ่งที่ชาวมอแกนสักคนหนึ่งจะได้รับสัญชาติไทยหรือสัญชาติพม่า เพราะฉะนั้นชาวมอแกนแห่งเกาะเหลานี้จึงกลายเป็นเสมือน "กลุ่มชนแปลกปลอม" ของทั้งสองรัฐชาติ และถูกกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ

ในขณะที่เมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ มีการส่งเสริมและทุ่มงบประมาณในการพัฒนาทั้งในภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาล หากแต่พี่น้องชาวมอแกนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นเสมือนฟันเฟืองตัวน้อยๆ ของภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยกลับไม่ได้รับการปฏิบัติ อย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด

ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นคนไทยเป็นปัญหาที่ชาวมอแกนแห่งเกาะเหลาเป็นกังวล มากกว่าความเสียหายที่เกิดจากสึนามิ เพราะพวกเขาเห็นว่าการที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ นั้นเป็นผลพวงมาจากการที่พวกเขาไม่ใช่คนไทยในสายตาของภาครัฐ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา ลูกโซ่ตามมาอีกมาก เช่น ไม่สามารถเข้ารับการบริการด้านสาธารณสุข ไม่มีโอกาสหางานทำ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เด็กมอแกนหลายคน ไม่อยากไปโรงเรียนเพราะพวกเขาไม่เข้าใจภาษาไทย และมักจะถูกรังแกจากเด็กไทยอยู่เสมอโดยคุณครูเองก็ไม่ได้ช่วยห้ามปราม

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยมีทัศนคติว่ามอแกนเป็นพลเมืองชั้นสอง นอกจากนี้ พวกเขามักถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าไทยเนื่องจากความไม่รู้หนังสือของพวกเขาอีกด้วย อาทิ เวลาไปซื้อสินค้าภายในตัวเมืองระนองก็มักจะถูกพ่อค้าหลอกขายของที่หมดอายุให้โดยที่ชาวมอแกนไม่รู้ เพราะอ่านตัวหนังสือและตัวเลขต่างๆ บนฉลากไม่ออกบ่อยครั้งที่เด็กๆ ชาวมอแกนต้องท้องเสียเพราะบริโภคนมหมดอายุที่ซื้อมาจากพ่อค้าไทย

วิกกี้ ประมงกิจ ชายหนุ่มมอแกนแห่งเกาะเหลา จังหวัดระนอง เล่าว่า เขาย้ายจากเกาะพยามมาอาศัยอยู่ที่เกาะเหลาแห่งนี้เมื่อสามสิบ กว่าปีมาแล้ว ประกอบอาชีพประมงจับหอย ปู ปลา หรือแมงกะพรุน แล้วแต่ฤดูกาล เขาเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งไปซื้อของในเมืองให้ฟังว่า

"เวลาไประนองเพื่อซื้อนมให้ลูกๆ พวกพ่อค้ามักเอานมหมดอายุมาขายให้ เราก็ไม่รู้ว่ามันหมดอายุเมื่อไหร่ เพราะเราอ่านหนังสือไม่ออก พอลูกกินเข้าไปก็ท้องเสีย" วิกกี้กล่าวขณะหยิบกระป๋องนมให้เราดู

และมีอีกหลายๆ เสียงที่พูดตรงกันว่า...

"อยากได้บัตรประชาชน เพราะเวลาออกทะเลไม่ได้ เราจะได้ไปหางานทำที่ระนองได้ ทุกวันนี้ไม่สามารถหางานอื่นทำได้ เพราะไม่มีบัตร เวลาเจอตำรวจก็ถูกจับ ไปไหนก็ไม่ได้ เวลาไปโรงพยาบาลก็ต้องเสียเงิน เพราะเราไม่มีบัตรประกันสุขภาพ จะเป็นโรคอะไรหมอก็ให้แต่ยาพารา"

ถึงแม้สึนามิที่ผ่านมา ชาวมอแกนเกาะเหลาจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก มีเพียงเรือประมงที่เสียหายเท่านั้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐตามหลักมนุษยธรรมเลย อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่มีบัตรประชาชน ความช่วยเหลือต่างๆ จึงเดินทางมาไม่ถึง

ทุกวันนี้ชาวมอแกนเกาะเหลา ยังคงรอคอยสิทธิความเป็นคนไทยที่หวังว่าภาครัฐจะหยิบยื่นให้ พวกเขาไม่ขอเรียกร้องอะไรมากไปกว่านี้ เพราะเชื่อมั่นว่าการได้รับบัตรประชาชนจะทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมี ศักดิ์ศรีและมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกคน พวกเขาต้องการประกอบอาชีพที่ถูกกฎหมายเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างเปิดเผย มิต้องหลบๆซ่อนๆ ตามซอกหลืบแห่งอันดามันอีกต่อไป

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยควรหันมาตระหนักและให้ความเคารพในศักดิ์ศรี วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย มองเห็นคุณค่าของชีวิตเล็กๆ ของพวกเขาและร่วมมือกันสร้างความเท่าเทียมในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา อนาคตของชาวมอแกนจะเป็นอย่างไรต่อไปจะได้รับการยอมรับเป็นคนไทยหรือไม่คงไม่มีใครให้คำตอบได้ หากแต่วันนี้เรื่องของพวกเขาที่เรารับรู้นั้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในซอกหลืบของสังคมไทยที่ใครหลายคนไม่เคยได้รู้ หรืออาจรู้...แต่ยังคงเอามือปิดตาตนเองเอาไว้ข้างหนึ่ง

นักท่องเที่ยวหลายคนอาจประทับใจกับภาพวิถีชีวิตเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติของชาวมอแกน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงความอยุติธรรมที่เขาได้รับ และต้องเผชิญอยู่กับมันไปอีกโดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ความอยุติธรรมที่มีต่อพวกเขาจะสิ้นสุดลงเสียที.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น