วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ไปดูหุ่นพม่าที่กัมพูชา



นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ไปเขมรมาหลายครั้ง มักจะวนเวียนอยู่ตรงแค่กลุ่มปราสาทหินนครวัด นครธม เมืองเสียมเรียบ หรือแถวจังหวัดบันเตียเมียนเจยเพื่อทำสารคดีเกี่ยวกับปราสาทบันทายฉมาร์ แค่นี้ก็มีเรื่องต้องดูต้องเขียนถึงไม่รู้จบแล้ว สิบกว่าปีก่อน เมืองเขมรเต็มไปด้วยกับระเบิด บ้านเมืองแหลกย่อยยับ

ปี พ.ศ. 2535-2537 นั้น ผู้ชายทุกคนที่เห็นสะพายปืนอาร์ก้า บ้านเมืองที่มีแต่สงครามการฆ่าฟัน ไปครั้งหลังราวปี พ.ศ.2543 บ้านเมืองดีขึ้นมาบ้าง ไม่มีป้ายระวังกับระเบิดให้เห็นอีกแล้ว ทุ่งสังหารกว้างไพศาลจากปอยเปตถึงเสียมเรียบ สองฟากระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตร มีการเก็บกู้กับระเบิดไปเรียบร้อยกลายเป็นท้องทุ่งนาอุดมสมบูรณ์

ตั้งแต่สาวละอ่อนจนกำลังจะแก่ไปเขมรมาร่วมสิบครั้ง จึงเห็นมันอยู่แต่แถวเมืองศรีโสภณ เมืองเสียมเรียบ ใจคิดอยากไปถึงพนมเปญกับเขาบ้างแต่ไม่เคยได้จังหวะเหมาะ มาคราวนี้มีโอกาสดี ทางหน่วยงาน Save the Children-UK เชิญไปร่วมงาน Mekong Artsand Media Festival 2009 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน  พ.ศ.2552 โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้ทุนสนับสนุนร่วมจัดงานเทศกาลครั้งนี้อันได้แก่ PETA (The Philippine Educational TheaterAssociation), Save the Children-UK และ CCRD (Center for Community Health Research and Development)เป็นเช่นนี้จึงเก็บของหอบผ้าไปเขมรทันที

งานเทศกาล Mekong Arts and Media Festival 2009 นี้มีคณะศิลปินจากไทย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียมาร่วมงานทั้งโชว์การแสดงและเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ ของไทยนั้นมีมาทั้งคณะละครพระจันทร์เสี้ยว คณะละครศิลปะขันธา และที่สร้างความตื่นตาแปลกใหม่ให้ผู้ร่วมงานอย่างยิ่งคือคณะหุ่นเงาพระจันทร์พเนจร(Wandering Moon) ที่มีนายโรงหญิงคุณมณฑาทิพย์ สุขโสภา พาสาวโบว์ สาวยิ้ม สาวชมพู่ มาเชิดหุ่นเล่าเรื่องประเด็นของวิฤติผู้หญิง เช่น การทำแท้ง ความรักความสัมพันธ์ในโลกปัจจุบัน หุ่นเงานี้คุณมณฑาทิพย์เจ้าสำนักซึ่งตั้งคณะอยู่ที่บ้านซอยวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ ได้พัฒนาเทคนิคการสร้างตัวหุ่น เชิดหุ่นจากหนังตะลุงโบราณมาร่วม 10 ปี แต่ผลงานของเธอก้าวไกลไปด้วยแสงสีเทคนิคใหม่ๆ อันสวยงาม เล่าเรื่องสอดคล้องกับโลกปัจจุบันจนเป็นการแสดงร่วมสมัยอย่างเป็นตัวของตัวเองได้น่าชื่นชมยิ่งคณะศิลปินสาวกลุ่มนี้ตระเวนแสดงมาแล้วทั่วยุโรป อเมริกาและอีกหลายประเทศในเอเชีย

ของลาวมีหุ่นกระบองลาวที่ลุงเลิดมะนี อินซีเชียงใหม่พัฒนาสร้างสรรค์ตัวหุ่นจากเศษขยะ กาบกล้วย กาบมะพร้าว ผ้าขาวม้า ฝาหม้อ กระบุง ตะกร้าขาดๆ เชิดหุ่นยักแย่ยักยันได้สนุกอย่างยิ่ง นี่ไม่ใช่การแสดงเชิงประเพณีของลาว แต่พัฒนาจากของเก่า และลุงเลิดมะนียังได้ไปเรียนไปฝึกทางเทคนิคมาจากฝรั่งเศส จนสร้างคณะ “หุ่นกะบองลาว” เป็นการแสดงร่วมสมัย ใช้ขยะจากลาวมาทำหุ่นเชิดหุ่น เล่าเรื่องชีวิตคนลาว นำเสนอต่อนานาชาติได้อย่างน่าทึ่ง

ส่วนกัมพูชานั้น คณะนักแสดงของเขาเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่งหลักๆ นั้น เป็น performance กระโดดต่อตัวตีลังกา เอาลีลากายกรรมละครสัตว์มาประกอบการแสดงละครเวทีเล่าเรื่องชีวิตปัจจุบันของหนุ่มสาวเขมร คณะนักแสดงนี้เป็นศิลปินและนักเรียนจาก “ฟาร์ ปนลือ เศลปะ (Phar Ponleu Selpak)” สถาบันสอนศิลปะเมืองพระตะบองที่มีชื่อเสียงที่สุดของกัมพูชา ซึ่งโด่งดังทางด้านการสร้างงานศิลปะทั้ง painting และ performance ของเยาวชนกัมพูชา ฟาร์ฯ ก่อตั้งมา 10 กว่าปีโดย 9 หนุ่มขแมร์ ทุกหนุ่มเกิดในยุคสงครามกลางเมืองกัมพูชาบ้านแตกสาแหรกขาด เติบโตและเรียนศิลปะกันมาจากค่ายอพยพไซท์ทู ชายแดนไทย ในช่วงต้นของชีวิต เด็กน้อยทั้ง 9 คนนี้เคยรู้จักแต่ความรุนแรง วิธีแก้ปัญหามีแต่การฆ่าฟัน การใช้กำลัง ทุบตี ด่าทอ ฟาดฟันทุกคนในยามเกิดเรื่องกระทบกระทั่ง พ่อแม่ก็มีแต่เฆี่ยนด่าใช้ความรุนแรงกับพวกเขา เพราะทุกคนอยู่ด้วยความกลัวและความเครียดส่วนของเล่นวัยเด็กมีแต่ปืน ระเบิด ลูกกระสุน ปาใส่หัวกัน หยิบเอาปืนเอาอาวุธร้ายแรงมาห้อย มาสะพายกันอย่างเท่ห์และภูมิใจ ร่วมเล่นเกมส์หยอกเย้าอย่างรักใคร่ของทหารเขมรอายุมากกว่า ที่มักเรียกน้องๆ มาทดสอบความว่องไวด้วยการยิงโป้ง โป้ง โป้ง ไปบนพื้นดิน ให้เด็กน้อยเต้นเป็นละครลิง หลบลูกกระสุน....

แต่เมื่อเด็กน้อยในไซท์ทูได้มาเรียนศิลปะจากค่ายอพยพ มาพบครูหญิงสอนศิลปะชาวฝรั่งเศส ครูโดมินิคที่กอดเด็กน้อย พูดเพราะๆ อย่างอ่อนโยน ป้อนขนมให้ อุ้มเด็กมอมแมมอย่างไม่รังเกียจ เดินจูงมือเด็กน้อยเป็นแถวขบวน ให้สีให้ดินสอ ให้กระดาษ สอนเด็กๆ ให้รู้จักการวาดรูปอยู่หลายปี  จนค่ายอพยพไซท์ทูปิดไป และครูโดมินิคทำตามสัญญาที่จะกลับมาพระตะบองในปี พ.ศ. 2537 มาตั้งโรงเรียนสอนศิลปะ ให้กับเยาวชนกัมพูชา เพื่อให้ลูกศิษย์หนุ่มน้อยทั้ง 9 คน เป็นครูและเป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน “ฟาร์ ปนลือ เศลปะ” เก็บเอาเด็กกัมพูชารุ่นถัดไปหลายสิบคนที่มีทั้งเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กติดยา เด็กถูกทอดทิ้งเร่รอนทั่วพระตะบองมาเข้าสถาบันฟาร์ฯ ให้ได้เรียนศิลปะกันอย่างยาวนาน...

ฟาร์ฯสอนทั้งการเขียนรูป การแสดงบนเวทีการแสดงกายกรรมcircus แบบละครสัตว์ของยุโรป ทั้งยังส่งเด็กนักเรียนหญิงชายไปฝึกฝนเรียนต่อทางด้าน circus และ performance ที่เวียดนามและฝรั่งเศสหลายต่อหลายรุ่น ก่อตั้งคณะนักแสดง “ฟาร์” อันมีชื่อเสียงที่สุดในกัมพูชา รับงานแสดงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และคณะนักแสดงรุ่นใหม่ของฟาร์ในบัดนี้ ก็ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง ให้กับสื่อมวลชน ศิลปิน และเยาวชนจากประเทศต่างๆ ของลุ่มน้ำโขงและอาเซียน อันได้แก่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ลาว ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่เข้าร่วมในงานเทศกาลครั้งนี้

ยังมีหุ่นสายจากพม่ามาร่วมงานนี้ด้วยคือหุ่นสายคณะ“Mandalay Marionette” โดยได้แสดงการเชิดหุ่นซึ่งเป็นวัฒนธรรมของพม่า และอบรมให้ผู้ร่วมงานหัดเชิดหุ่นด้วย หุ่นสายคณะนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยดอว์มะมะหน่ายและดอว์หน่ายยีหม่าด้วยความตั้งใจว่าการแสดงหุ่นโบราณของพม่ากำลังจะเสื่อมสลายจึงมีการตั้งคณะหุ่นของมัณฑะเลย์ขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดการแสดงหุ่น เทคนิคการทำหุ่นเชิดหุ่น การเล่นดนตรีพื้นเมืองประกอบการแสดง ให้คนรุ่นใหม่ของพม่าได้รักษาและสืบต่อชีวิตวัฒนธรรมพื้นถิ่นอันทรงคุณค่านี้ไว้

คุณลุงอู ทัน ยุน ผู้ร่วมก่อตั้งหุ่นคณะนี้ สอนหนุ่มจีนหนุ่มเวียดนาม ให้รู้จักการขยับนิ้วเชิดหุ่นที่มีสายโยงยึดตัวหุ่นอยู่เป็นสิบเส้น ลุงขยับมืออย่างคล่องแคล่วให้หุ่นก้าวเดินไปมา กระโดดไต่ไปตามฉากผ้า ยักคอยักไหล่หันซ้ายขวาสนุกสนาน และในคืนที่คุณลุงกับคุณป้าร่วมคณะเปิดการแสดงที่ห้องประชุม อาคารจตุมุข กลางเมืองพนมเปญหุ่นแสนสวยสีชมพูสดใสของคุณลุงและทีท่าแล่นโลดโดดเต้นอย่างเปี่ยมด้วยชีวิตของตัวหุ่น ก็สร้างความประทับใจอย่างยิ่งให้กับผู้ชมและเรียกเสียงปรบมือได้ยาวนาน

สิ่งน่าสังเกตสำหรับคณะหุ่นจากพม่านั้น ศิลปินลาวดูจะพูดวิจารณ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ช่วงหลายปีมานี้ ลาวเคยไปเปิดการแสดงพร้อมกับหุ่นพม่าในงานเทศกาลศิลปะนานาชาติของหลายประเทศ แต่หุ่นพม่าไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลง เชิดหุ่นแบบเดิม เล่าเรื่องพื้นเมืองแบบศิลปะประเพณีนิยมเหมือนเดิม ไม่เคยก้าวหน้าไปไหน

จริงแท้ที่หุ่นพม่าเชิดได้เก่งและสวยงาม สามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นไว้ได้อย่างเยี่ยมยอด แต่นี่คือ “ชีวิต” หรือ “ความตาย” กันแน่ การที่ศิลปินถูกจำกัดถูกปิดปากด้วยระบอบการเมืองการปกครอง จนไม่อาจเล่าเรื่องหรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดรอบตัวในปัจจุบันด้วยวิธีสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะของตน ในทางหนึ่งมันคือการฆาตกรรมงานศิลปะ เป็นการตัดแขนตัดขางานศิลปะไปในเวลาเดียวกันศิลปะการเชิดหุ่นของพม่า“หลุด”จากโลกปัจจุบันไปแทบจะสิ้นเชิง พัฒนาได้แต่ภายในกรอบแคบๆ ของศิลปะเชิงประเพณีที่สื่อสารได้ลำบากมากกับโลกยุคนี้ สะท้อนภาพสังคมพม่าร่วมสมัยได้ประเด็นเดียวเท่านั้นคือเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงสังคมพม่าอันหยุดนิ่งอยู่ใต้ท้อปบู้ทของเผด็จการทหารเพราะเมื่อศิลปะเป็นเครื่องสะท้อนถึงการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายทางสังคมแล้ว กับสังคมพม่า บ้านเมืองพม่า ผู้คนพม่า รวมถึงชนกลุ่มน้อยทั่วสหภาพ พวกเขาต่างถูกปิดกั้นให้หยุดนิ่งแช่แข็งอยู่กับที่มาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น ศิลปะการเชิดหุ่นพม่าจะมีการเติบโต จะมีอะไร “ใหม่ๆ” ปรากฏให้เห็นได้เล่า? ศิลปินจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอันหยุดนิ่งไปได้อย่างไร? เพราะชีวิตบ้านเมืองและคนพม่าในช่วงประมาณ 50 ปีมานี้มันอยู่ในสภาพที่เจ๊ะหม่องหม่องญุ๊นต์ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงของพม่า เคยกล่าวถึงหมู่บ้านที่เขาเกิด เติบโต บ่มเพาะชีวิตคลุกคลีมาตลอดครั้งยังเด็กในช่วง60 -70 ปีก่อนนั้นว่า จนถึงปัจจุบันนี้ “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมา ที่นั่นเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย” เท่านั้น

ศิลปินนักเชิดหุ่นพม่าทำหน้าที่สืบต่อชีวิตของหุ่นโบราณมาได้อย่างทรงค่าที่สุดแล้ว แต่เมื่อสังคมไม่เอื้อ ศิลปินจะพัฒนาฝีมือการงานและสติปัญญาของตนในเชิงสร้างสรรค์สมกับศักยภาพที่มีได้อย่างไร ศิลปินต้องการพื้นที่อิสระ ชุมชนและสังคมอันเป็นอิสระ ช่วยหนุนเสริมในการผลิตงานศิลปะ ขนาดประเทศกัมพูชาเองนันบ้านเมืองเคยแหลกย่อยยับขาดวิ่นมาอย่างที่สุดแล้ว หากช่วงเวลาเพียง10 กว่าปีที่สร้างชาติขึ้นมาใหม่ ศิลปินกัมพูชายังสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะให้ปรากฏเป็นที่ยอมรับนับถือในระดับนานาชาติ สถาบันฟาร์ฯก่อตั้งมาโดยเด็กๆ ในค่ายอพยพ ตั้งเป้าประสงค์เก็บเอาเด็กเขมรด้อยโอกาสที่เดินร่อนเร่คุ้ยขยะเลี้ยงชีวิตริมถนนมาฝึกปรือขัดเกลาจนกลายเป็นศิลปินฝีมือเยี่ยมจนครูฝรั่งเศสยกนิ้วให้

แล้วกับพม่า กะเหรี่ยงมอญ ไทใหญ่ ชิน กะฉิ่น ปะหล่อง ฯลฯ สารพัดชาติพันธุ์ในแผ่นดินพม่าหากมีโอกาส บ้านเมืองยุติสงคราม หมดสิ้นการปิดกั้นทางสังคมการเมืองผู้คนบนแผ่นดินพม่าก็ย่อมสร้างสรรค์งานศิลปะทั้งแบบประเพณี และแบบร่วมสมัยได้อย่างไม่น้อยหน้าคนชาติพันธุ์อื่นๆ ในแผ่นดินอุษาคเนย์นี้เป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น