วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

พระอริยะวัมสา พระผู้พลิกชีวิตเหยื่อเอชไอวี

มัณฑเลย์- พระภัททันตะ อริยะ วัมษา ภิวันสา วัย 63 ปี ชี้ไปยังสัญลักษณ์รูปดอกบัว 3 ดอกตรงประตูทางเข้าวัดเมียวดีมินจี ที่ตั้งอยู่ในแถบชายเมืองมัณฑเลย์  ดอกบัวทั้งสามหมายถึงคำสอนของพระพุทธองค์ การเรียนรู้ การปฏิบัติ และสันติ” 

 

ในฐานะเจ้าอาวาส พระอริยะ วัมษา ต้องอบรมสั่งสอนพระและเณรกว่า 100 รูป ซึ่งศิลปะการปฏิบัติสมาธิเป็นส่วนหนึ่งในการสอน นอกจากนี้ ท่านยังสอนวิธีนั่งสมาธิให้แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีอีกด้วย

[caption id="attachment_3589" align="alignleft" width="469" caption="(PHOTO: Zaw Min Maung / The Irrawaddy)"][/caption]

พระอริยะ วัมษากล่าวว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 15 ถึง 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จะเดินเข้าวัดหรือขี่จักรยานเข้ามาเข้ารับการอบรมการฝึกสมาธิแบบรายวันและรับประทานอาหารที่วัดเป็นครั้งคราว

 

พวกเขายากจนและไม่ได้กินอาหารที่เหมาะสม เราจึงใช้อาหารที่มีประโยชน์เป็นตัวดึงให้เขาเข้ามาฝึกปฏิบัติ แต่การมอบอาหารกับยารักษาโรคนั้นไร้ความหมาย เราต้องช่วยให้จิตใจเขาสงบและตระหนักถึงความหมายของชีวิตด้วย

 

ผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการอบรมการปฏิบัติสมาธิที่นี่เคยเป็นนางรำและนักร้องในคณะการแสดงพื้นบ้าน ในช่วงที่อาชีพการงานของเธอพุ่งถึงขีดสุด เธอกลับพบว่าได้ติดเชื้อเอชไอวีจากสามีที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ความเจ็บปวดรวดร้าวประกอบกับความรู้สึกที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ยุติกับเธอเลย ทำให้เธอเริ่มเสาะหาผู้ชายมากหน้าหลายตาเพื่อแพร่เชื้อร้ายให้ทำลายชีวิตของชายเหล่านั้น เช่นเดียวกับชีวิตของเธอที่ถูกทำลายลงไปแล้ว ทว่า เธอได้รู้จักกับผู้ติดเชื้อคนอื่นและพาเธอมาที่วัดแห่งนี้

 

เมื่อติดเชื้อเอชไอวี เธอรู้สึกว่าเชื้อร้ายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนเธอ และคิดว่าจะต้องเผชิญกับความตายอย่างโดดเดี่ยว อาตมาต้องอธิบายว่า ไม่ใช่เธอคนเดียวที่ต้องพบกับความตาย ไม่มีใครหนีจากความแก่ เจ็บ ตายได้พ้น เราทุกคนล้วนมีปลายทางอยู่ที่สุสานทั้งนั้น นี่คือความจริง พระอริยะ วัมษากล่าว เมื่อผู้ป่วยได้พบกันจะพบว่า พวกเขาไม่ใช่คนเดียวที่ตอดเชื้อร้าย และทำให้รู้สึกผ่อนคลายลง

 

พระอริยะ วัมษากล่าวว่า อดีตนางรำคนดังกล่าวสามารถรับรู้ได้ถึงความสงบตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกปฏิบัติสมาธิ และกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้านเป็นเวลา 40 วัน เธอใช้เวลาในวันสุดท้ายของชีวิตที่วัดแห่งนี้เพื่อปฏิบัติสมาธิจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย และจากไปด้วยวัยเพียง 23 ปี


สุดท้ายแล้ว นางรำคนนั้นได้ขอบคุณโรคร้าย เพราะมันทำให้เธอได้พบกับความสงบที่แท้จริง

 

พระอริยะ วัมษาอธิบายว่า ผู้ที่ยึดถือหรือยึดติดกับคนใด หรือ สิ่งใด ผู้นั้นย่อมพบกับความทุกข์เมื่อสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไป ถ้าคุณต้องการความสงบ ก็ต้องฝึกปฏิบัติสมาธิด้วยตัวเอง เพราะมันยากที่อธิบาย

 

พระอริยะ วัมษาสอนว่า การปฏิบัติสมาธิคือหนทางของพระพุทธเจ้าที่จะนำไปสู่จิตที่บริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ จะอยู่กับโลกภายนอก ส่วนผู้ที่ปฏิบัติจะอยู่กับโลกภายใน

 

ในโลกภายใน จิตของคุณจะราบเรียบและเบา ในโลกภายนอก จิตจะหยาบและหนัก ถ้าปฏิบัติต่อเนื่อง ความทุกข์ทั้งกายและใจจะหายไป นั่นคือคุณกำลังอยู่ในโลกภายในอย่างสิ้นเชิงที่เต็มไปด้วยความสงบ ความสงบอยู่ข้างใน การมองสิ่งต่างๆ ก็จะชัดเจน นำไปสู่การัดสินใจที่ถูกต้อง

 

ในช่วงเริ่มปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะยังอยู่แค่บริเวณรอยต่อระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอก ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนเข้าไปยังโลกภายในได้จะรู้สึกเหมือนอยู่ในสุญญากาศไร้แรงโน้มถ่วง และพ้นจากความทุกข์ กายทุกข์ใจได้  “คุณจะเห็นและรู้สึกถึงความดับสิ้นของความทุกข์กายและทุกข์ใจในโลกภายใน และนั่นคือ พุทธิปัญญาพระอริยะ วัมษากล่าว

 

ติ่น ติ่นโม แม่บ้านวัย 39 ปี ได้รับเชื้อเอชไอวีจากสามีเช่นเดียวกัน เธอเป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่เข้ามาฝึกสมาธิที่วัดแห่งนี้  เธอเล่าว่า ตอนที่รู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี ฉันรู้สึกว่าถูกคนอื่นรังเกียจและรู้สึกอับอายเมื่อคนอื่นเห็นฉัน ฉันนอนไม่หลับอยู่หลายวันจนคลุ้มคลั่งและพยายามฆ่าตัวตาย หลังจากได้ฝึกสมาธิที่วัด จิตใจก็สงบ และตอนนี้ฉันก็รู้สึกพอใจในชีวิตของฉัน ปัจจุบัน ติ่น ติ่นโม ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์แก่คนทั่วไปและมีกิจการเย็บจีวรและพัดสำหรับพระสงฆ์

 

ภัยพิบัติหรือโรคภัยไข้เจ็บไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่เป็นเหตุแห่งทุกข์  สาเหตุของความทุกข์มีมากมาย ถ้าคุณฉลาด คุณจะสามารถอยู่โดยปราศจากทุกข์ในโลกที่เต็มไปด้วยอันตราย ปัญญาคือศิลปะของการใช้ชีวิต พระอริยะ วัมษากล่าวส่งท้าย

 

 

ในประเทศพม่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 240,000 ราย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณะสุขพบว่า ในแต่ละปี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 17,000 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตถึงปีละ 20,000 คน ขณะที่ผู้ติดเชื้อมากกว่า 100,000 รายยังขาดแคลนยาต้านเชื้อในการรักษาอยู่ในขณะนี้.

 

 

 

 

แปลจากบทความ “The Monk Who Brings Peace to the Suffering”

โดย ZIN MIN MAUNG    19 มกราคม 2554 ใน www.irrawaddy.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น