วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

เบื้องหลังธุรกิจเสียงเพลงในพม่า

โดย จ่อตะโดเญง

ดนตรีแนวใหม่อันน่าตื้นเต้นเร้าใจที่เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสดนตรีโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้นได้ส่งผลกระทบต่อแวดวงดนตรีของประเทศพม่าไม่มากก็น้อย หากกล่าวย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว  แม้ว่าหมู่วัยรุ่นทั้งหลายจะคลั่งไคล้ดนตรีแนวร็อคกันอย่างเมามันก็ตาม  แต่ทว่าในปัจจุบัน ได้หันมานิยมดนตรีแนวฮิพฮอพ   ป็อป  พั้งค์ และแด๊นซ์กันแล้ว โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งนั้น มีหมู่วัยรุ่นที่คลั่งไคล้ดนตรีฮิพฮอพมากมาย จนทำให้กระแสความแรงของฮิพฮอพมาเป็นอันดับหนึ่ง  บรรดาศิลปินเพลงแร๊พชาวอเมริกัน อย่าง Eninem, Nas และ 50 cent  SnoppDog ก็กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศพม่า   ส่วนวงดนตรีแนว Rock Punk อย่าง  Green Day , Blin182 , Fall Out Boy และ GoodCharlotte นั้นเป็นกลุ่มศิลปินที่ผู้ฟังชาวพม่าต่างก็ชื่นชอบเช่นกัน

ในปี ค.ศ. 1990 บรรดาศิลปินเพลงร็อคและวงร็อค อย่างเช่น Emperor Music Band , Iron Cross Music Band , Lazy Club  และ The Jrees  สามารถยึดครองเวทีคอนเสิร์ตได้นานถึงสิบปีเต็ม ในขณะนั้นเกิดศิลปินเพลงแร๊พเพียงคนเดียวคือ มโยเจ้าะ-มย่าย แต่หลังจากปี ค.ศ.1990 วัฒนธรรมฮิพฮอพของชาติตะวันตกเริ่มปรากฏขึ้น และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศพม่า  หมู่วัยรุ่นพม่าหันมานิยมฟังเพลงแนวฮิพฮอพอเมริกันมากขึ้น  จนกระทั่งในปี ค. ศ.2000  ได้มีการออกอัลบั้มแนวเพลงฮิพฮอพชื่อว่า “การเริ่มต้น” ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินวัยรุ่นชาวย่างกุ้งกลุ่มแรกที่รวมตัวกันตั้งวงแอสิดขึ้น อัลบั้มแรกของวงแอสิดนั้นถือได้ว่าเป็นอัลบั้มขายดีอันดับหนึ่งแห่งปี และจากความสำเร็จของวงแอสิดนี้ทำให้เกิดวงดนตรีฮิพฮอพตามขึ้นมาอีกมากมาย อาทิเช่น เธียโอรี่(Theory),ทูบิ๊ก(TooBig), ซายซายคานลาย(SaiSaiKhamHlaing) และนายเอ็มเอ็ม(9MM)  ส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15–25 ปีสนใจดนตรีแนวร็อคลดลง ขณะเดียวกันบรรดาผู้ผลิตต่างก็เริ่มหันไปผลิตอัลบั้มเพลงฮิพฮอพเพื่อให้เข้ากับตลาดมากขึ้น  จึงทำให้ศิลปินฮิพฮอพค่อยๆสามารถยึดครองการแสดงคอนเสิร์ตไว้ได้    แม้ว่าในปี ค.ศ.2003 ศิลปินฮิพฮอพจะทำได้เพียงแค่แสดงเปิดเวทีก่อนที่ศิลปินเพลงร๊อคและศิลปินเพลงป๊อปนั้นจะขึ้นแสดงบนเวทีก็ตาม แต่ด้วยความสามารถส่วนตัวของศิลปิน รวมถึงการขับร้องบนเวทีอันดีเยี่ยม จึงทำให้พวกเขาสามารถค่อยๆ เข้าไปยืนอยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างเต็มที่

จนกระทั่งได้มีการจัดแสดงคอนเสิร์ตของซายซายคำไหลขึ้นที่โรงแรม
สแตนด์ บนถนนกานนาของเมืองย่างกุ้งเมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2004  นับแต่นั้นเป็นต้นมาการแสดงดนตรีของเหล่าศิลปินแนวฮิพฮอพจึงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับงานการแสดง
อื่น ๆ แล้วประชาชนพม่าที่ให้การสนับสนุนต่องานแสดงดนตรีฮิพฮอพนั้นมีมากมาย  ทำให้บรรดาผู้เตรียมงานและผู้จัดงานเหล่านั้นวางแผน และเน้นหนักไปที่การจัดคอนเสิร์ตแนวฮิพฮอพมากขึ้น แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเตรียมงานนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ผู้จัดจึงมักจะเลือกจัดงานให้เฉพาะศิลปินที่สามารถดึงความสนใจจากผู้ชมส่วนใหญ่ได้เท่านั้น

สำหรับประเทศพม่าที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารนั้น การจะจัดงานคอนเสิร์ตสักงานนั้นเป็นเรื่องที่แสนยาก เพราะต้องได้รับอนุญาตจากคณะปกครองสูงสุดของมณฑลและรัฐก่อนจึงจะสามารถจัดงานได้ และการขออนุญาตจัดงานนั้นจะต้องยื่นเรื่องเป็นขั้นตอนไปยังหน่วยปกครองสูงสุดของท้องถิ่นเริ่มตั้งแต่หน่วยงานการปกครองส่วนอำเภอ ตำรวจ ทหาร สำนักงานในจังหวัด ตลอดจนคณะผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการยื่นคำร้องขออนุญาตนั้นจะต้องระบุสถานที่ในการจัดแสดง ชื่อจริงของศิลปิน ชื่อวงดนตรีที่จะเข้าร่วมแสดง  และเวลาที่จะทำการแสดงลงในใบคำร้อง พร้อมทั้งให้ศิลปินนั้นเซ็นรับรองในคำปฏิญาณว่าจะไม่ขับร้องเพลงที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  จะไม่กระทำการที่ขัดต่อรัฐบาล และไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง  ฉะนั้น หากในรายการนั้นมีชื่อศิลปินที่รัฐบาลได้ห้ามเอาไว้ร่วมแสดงด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้รับอนุญาต

ในส่วนขั้นตอนที่สองของการยื่นคำร้องขอทำการแสดงนั้น นอกจากจะต้องมอบของกำนัลให้แก่คณะผู้อำนาจที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องมีค่าธรรมเนียมซึ่งระบุไว้ว่าเป็นเงินบริจาคด้วย สำหรับผู้จัดที่จะได้รับอนุญาตให้จัดงานได้นั้นต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมอย่างน้อย 5 แสนจั๊ต   ให้กับหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นนั้น ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียว  และการที่ผู้รับเหมาจัดงานเพิ่มค่าบัตรเข้าชมและลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานบางส่วนลงเพื่อต้องการกันไว้สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียมนั้น ทำให้งานแสดงคอนเสิร์ตของประเทศพม่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว สภาพเวที แสงสีและระบบเครื่องเสียงต่าง ๆ ยังด้อยคุณภาพอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดหรือตัวศิลปินเอง หากละเมิดกฎระเบียบอันเคร่งครัดของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว  กิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้นว่า การผลิตอัลบั้ม  การร้องเพลง  เหล่านี้จะถูกระงับเป็นเวลาสองสามปีหรือไม่ก็ตลอดไป

สำหรับผู้รับเหมาจัดงาน นอกจากเงินที่ต้องจ่ายจำนวนมากแล้ว ยังต้องมอบบัตรกำนัลให้กับผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องด้วย  การกระทำเช่นนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจในแวดวงดนตรี ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตตามมา  หากจะกล่าวโดยสรุปถึงการหาผลประโยชน์อันทุจริตว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น  กล่าวได้คือ ในเมืองย่างกุ้งนั้น หากจะจัดงานขึ้นมาสักงานหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 5 ล้านจั้ต    โดยเฉพาะในงานที่มีศิลปินที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานด้วยแล้วนั้น ราคาบัตรอย่างต่ำตกใบละ  5,000 จั้ต    ถ้าหากขายบัตรได้ถึง 2,000 ใบจึงจะคุ้มทุน  และงานแสดงคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในเมืองย่างกุ้งนั้น หากมีผู้ชมมางานประมาณ 10,000 คนขึ้นไป  จึงจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จ   และสาเหตุที่งานคอนเสิร์ตของประเทศพม่ามีผู้ชมมากันน้อยนั้น  เป็นเพราะว่าราคาบัตรเข้าชมสูงถึง 5,000 จั๊ต ซึ่งสำหรับประชาชนคนธรรมดาแล้วนั้นถือว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป

ดังนั้นผู้จัดงานมักจะขอสปอนเซอร์โฆษณาจากบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อป้องกันการขาดทุนจากการจัดงาน ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้น คือร่วมจัดงานกับผู้ที่ถือเงินผิดกฎหมาย  การจัดงานคอนเสิร์ตในประเทศพม่าต้องเสียเงินจำนวนมากให้กับคณะผู้มีอำนาจ  เงินที่จ่ายนี้นั้นจะเรียกกันว่า ภาษีการค้า หรือ ภาษีบันเทิง  แม้เงินภาษีดังกล่าวต้องจ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของราคาบัตรเข้าชม  แต่ใบรับรองการจ่ายภาษีของกรมสรรพากรนั้นสามารถฟอกเงินผิดกฎหมายให้เป็นเงินสะอาดได้  เพราะใบรับรองการจ่ายภาษีนี้เอง สามารถยืนยันได้ว่าทรัพย์สินที่ครอบครองเกิดจากผลกำไรที่ได้มาจากการจัดงาน   ดังนั้น ผู้ที่ถือเงินผิดกฎหมายจึงมักร่วมมือกับผู้รับเหมาจัดสรรเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายงาน ส่วนผู้จัดงานที่ต้องจ่ายเงินส่วนที่ไม่จำเป็นให้กับคณะผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องมักเลือกวิธีนี้ ที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่แนวโน้มที่ดีนักสำหรับตลาดความบันเทิงของประเทศพม่าในอนาคต  เพราะผู้ที่ถือเงินผิดกฎหมายในพม่าเริ่มเปลี่ยนวิธีฟอกเงินโดยผ่านการจัดงานบันเทิงมากขึ้น

ในประเทศพม่า การควบคุมอย่างเข้มงวดของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับงานบันเทิงไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ  จากการที่รัฐบาลเป็นกังวลกับการรวมตัวของกลุ่มคน เมื่อจัดงานจึงเข้มงวดทางด้านความปลอดภัย แต่ที่สำคัญก็คือ ทั้งศิลปินและผู้ชมขาดความเป็นอิสระ  ศิลปินต้องทำตามข้อจำกัดในเรื่องการแต่งกาย รวมทั้งการขับร้อง ส่วนผู้ชมที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นก็ได้รับความสนุกเพียงเศษเสี้ยว เพราะการจัดวางกำลังของบรรดาตำรวจ  ทหาร และหน่วยรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาและเข้มงวด

แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ในอนาคต วงการดนตรีของประเทศพม่าจะเติบโตหรือซบเซา  แต่สำหรับปัจจุบันแล้วยังอยู่ในภาวะที่ยังต้องดิ้นรน ยังไม่มีอาคารแสดงชั้นดี และเครื่องดนตรีด้อยคุณภาพ ในบางงานขณะที่ศิลปิน Rapper กำลังขับร้องอยู่  ดีเจหลังเวทีก็จะคอยเปิดดีวีดีเล่นเพลงประกอบ บางทีก็ใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น DJ 500 (Pioneer) ซึ่งก็ไม่มีประเทศไหนใช้กันแล้ว  ในทุกครั้งที่ดนตรีแนวใหม่ ๆ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับกระแสดนตรีที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้น แม้ว่าหมู่วัยรุ่นชาวพม่าจะให้ความสนใจ แต่ด้วยกฎระเบียบข้อบังคับอันเคร่งครัดของรัฐบาลจึงทำให้งานบันเทิงของประเทศพม่านั้น อย่าว่าแต่ระดับโลกเลย ขนาดระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังแทบเทียบไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเหตุมาจากการขาดโอกาสในการสร้างสรรค์บรรเลงได้อย่างอิสระ ดังนั้น โอกาสที่จะไต่ไปถึงระดับนานาชาติได้จึงยังต้องดิ้นรนอยู่อีกไม่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น